สัญญาณเตือนภัยน้ำท่วมไทย จากค่า SOI

กราฟแสดงค่า SOI จากปี 2552 ถึงเดือนมกราคมปี 2555

ค่า Southern Oscillation Index เป็นดัชนีที่คำนวนจากค่าความกดอากาศที่แตกต่างกันระวห่างจุด 2 จุดในมหาสมุทรแปซิฟิคใต้ คือเกาะตาฮิติ ที่กลางมหาสมุทรและเกาะดาร์วินที่ชายฝั่งอเมริกาใต้ ในปี 2553 จะพบความเปลี่ยนแปลงกระทันหันจากความแล้งตอนต้นปีที่แล้งจนแม่น้ำโขงบางจุดแห้งจนเดินข้ามด้วยเท้าได้ อยู่ๆก็เกิดฝนตกมหาศาลจนน้ำท่วมที่ราบสูงทางอีสานหลายจังหวัดแม้กระทั่งโคราช เหตุการณ์นี้ก็มาเกิดในปี 54 ที่มีผลพวงจากความผิดพลาดในการประมาณการน้ำในเขื่อนผสมด้วยจนเกิดมหาอุทกภัยขึ้น จะเห็นได้ว่าค่าความชันของ SOI ที่มากกว่า 8 ติดกัน 2 เดือนเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ควรระวัง

แผนที่กลุ่มรอยเลื่อนที่ยังมีพลังในไทย

รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ – คำชี้แจงของกรมทรัพย์ฯ

กรมทรัพยากรธรณี ชี้แจงเรื่องรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ตามที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๔ ได้เสนอข่าว ดังนี้

ผลการสำรวจธรณีวิทยาแผ่นดินไหวของกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี ของกรมทรัพยากรธรณี ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ สามารถสรุปได้ดังนี้

๑. พื้นที่โดยรอบเขื่อนศรีนครินทร์ พบกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ วางตัวในแนวเกือบเหนือ-ใต้ และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความยาวของรอยเลื่อนย่อยตั้งแต่ ๓-๕๐ กิโลเมตร วางตัวขนานไปกับแม่น้ำแควใหญ่ มีความยาวรวมของกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร

๒. พื้นที่โดยรอบเขื่อนวชิราลงกรณ พบกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ มีการวางตัวในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มตั้งแต่ในเขตแดนของสหภาพพม่ายาวต่อเข้ามาในชายแดนของประเทศไทยบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ โดยมีความยาวของรอยเลื่อนย่อยตั้งแต่ ๑๐-๕๐ กิโลเมตร วางตัวขนานไปกับแม่น้ำแควน้อย โดยมีความยาวรวมของกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ประมาณ ๑๗๐ กิโลเมตร

๓. แผ่นดินไหวในอดีตสูงสุด ที่เคยตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวขนาด ๕.๙ ตามมาตราริกเตอร์ เหนือเขื่อนศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖ แต่ไม่มีผลกระทบต่อตัวเขื่อนแต่อย่างไร

๔. ผลการสำรวจธรณีวิทยาแผ่นดินไหว พบว่ากลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์ มีการเลื่อนตัวตามอิทธิพลของรอยเลื่อนในแนวเฉียง คือมีการเลื่อนตัวแบบเหลื่อมขวาและเลื่อนขึ้นในแนวดิ่งด้วยอัตราการเคลื่อนตัวที่ ๑.๓-๑.๙ มิลลิเมตรต่อปี รอยเลื่อนทั้งสองกลุ่มนี้จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวมีขนาดไม่เกิน ๖.๙ ริกเตอร์

เมื่อพันปีที่แล้ว กรุงเทพ และ 6 จังหวัดภาคกลางเคยอยู่ใต้ทะเลมาก่อน

เชื่อหรือไม่ เมื่อ 1,000 ปีก่อน กรุงเทพ อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เคยจมอยู่ใต้ทะเลมาก่อน

เมื่อ 1000 ปีก่อน โลกอยู่ในช่วงอบอุ่นมากช่วงหนึ่ง ทำให้น้ำแข็งจำนวนมาก ละลายออกจากขั้วโลก แม้แต่เกาะกรีนแลนด์แดนน้ำแข็งทุกวันนี้ ในขณะนั้นก็กลายเป็นเขตอบอุ่นจนชาวไวกิ้งเข้าไปตั้งรกรากทำการเกษตรปลูกพืชเมืองร้อนได้ เราเรียกช่วงเวลาที่โลกร้อนในช่วงนี้ ว่าช่วง  Medieval Warm Period ผลจากการละลายของน้ำแข็งในช่วงนี้ ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูง และนั่นคือเหตุผลของการที่หลายจังหวัดในภาคกลางตอนล่างของไทย (ขณะนั้นยังไม่มีเมืองไทยปรากฏขึ้นบนโลก) จมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล

ภาพแผนที่อ่าวไทยโบราณ แบบที่ 1

ช่วงที่โลกร้อนในสมัย Medieval Warm Period ตรงกับสมัยทวารวดี  นั่นคือก่อนจะมีการก่อตั้งกรุงสุโขทัยนั่นเอง ทะเลอ่าวไทยยุคนั้น มีขอบเขตกว้างขวางกว่าปัจจุบันมาก ดังนี้

  • ทิศเหนือ ทะเลสูงขึ้นไปถึงบริเวณ จ.ลพบุรี หรือเหนือขึ้นไปอีก
  • ทิศตะวันตก ทะเลเว้าเข้าไปถึงบริเวณ อ.เมือง และ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ต่ำลงมาที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ต่ำลงมาที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี และต่ำลงมาที่ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
  • ทิศตะวันออก ทะเลเว้าเข้าไปถึงบริเวณ จ.สระบุรี จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี และเว้าไปถึง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

ภาพแผนที่อ่าวไทยโบราณ แบบที่ 2

และแม่น้ำสายสำคัญๆ ที่เรารู้จัก ก็มีขนาดสั้นกว่าปัจจุบันมาก ปากแม่น้ำหลายสาย จะมีตำแหน่งไหลลงทะเลสั้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ โดย

  • ปากน้ำเจ้าพระยา อยู่บริเวณ จ.นครสวรรค์-ชัยนาท
  • ปากน้ำแม่กลอง อยู่ทาง จ.นครปฐม (แม่น้ำท่าจีนยังไม่มี)
  • ปากน้ำบางปะกง อยู่ทาง จ.นครนายก-ปราจีนบุรี
  • ปากน้ำป่าสัก อยู่ทาง จ.ลพบุรี เป็นต้น
ภาพถ่ายทางอากาศ (จำลอง) ทะเลอ่าวไทยเมื่อหลายพันปีก่อน

ต่อมาโลกเริ่มเย็นลงจนเข้าสู่ช่วงยุคน้ำแข็งย่อย หรือ Little Ice Age น้ำทะเลเริ่มจับตัวเป็นน้ำแข็งตามขั้วโลก กรีนแลนด์หมดสภาพอบอุ่น และกลายเป็นเกาะน้ำแข็ง ชาวไวกิ้งทิ้งถิ่นฐานออกมา ระดับน้ำทะเลทั่งโลกเริ่มลดลง ประกอบกับการทับถมของตะกอนแม่น้ำหลายร้อยปี ทำให้จังหวัดต่างๆในภาคกลางตอนล่างปัจจุบัน เริ่มโผล่ขึ้นเหนือระดับน้ำทะเล ตรงกับยุคกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรไทย (สมัยราชวงศ์ซ้องของจีน)

ต่อมาหลัง พ.ศ.1600 มีบ้านเมืองและรัฐรุ่นใหม่เติบโตขึ้นโดยรอบอ่าวไทย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น รัฐอโยธยาศรีรามเทพ (ที่ต่อมาเป็นกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งตั้งอยู่ตอนบนของอ่าวไทยเหนือกรุงเทพฯ ขึ้นไป และทางน้ำกว้างใหญ่ผ่านบริเวณกรุงเทพฯ (ที่ต่อไปอีกนานมากจะได้ชื่อว่าเจ้าพระยา) ไหลคดเคี้ยวเป็นรูปโค้งเกือกม้า (Oxbow Lake) นับเป็นแม่น้ำเก่าแก่ดั้งเดิมของกรุงเทพฯ

มีคนพื้นเมืองตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนชายเลนบ้างแล้ว เช่น พวกพูดภาษาตระกูลมาเลย์-จาม กับชวา-มลายู จนถึงตระกูลมอญ-เขมร กับลาว-ไทย

ในปัจจุบัน โลกกลับเข้าสู่ช่วงอบอุ่นอีกครั้ง และความร้อนพุ่งทะยานเร็วขึ้นจากสภาพเรือนกระจกที่เกิดจากแก้สต่างๆเช่นมีเทน ไอน้ำ คาร์บอนในรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดการละลายของน้ำแข็งจากขั้วโลกและธารน้ำแข็งหรือหิ้งน้ำแข็ง รวมทั้งยอดเขาน้ำแข็งต่างๆอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอัตรา  3.2 ± 0.4 มิลลิเมตร/ปี 

จากสภาพการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลในลักษณะนี้ จึงหลีกเลี่ยงได้ยาก ที่วัฏจักรเดิมจะกลับมาอีกครั้ง นั่นคือการกลับลงสู่ใต้ทะเลของหลายเมืองริมชายฝั่งทั่วโลก รวมทั้งภาคกลางตอนล่างของไทย เช่นที่บ้านขุนสมุทรจีน สมุทรปราการ ซึ่งจมลงทะเลไปแล้วทั้งหมู่บ้าน โดยมีการใช้คำว่าาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อเรียกภัยพิบัติชนิดนี้ โดยเฉลี่ยแล้ว อัตราการกัดเซาะรุนแรงในอ่าวไทย คือเฉลี่ยมากกว่า 5.0 เมตรต่อปี (ถือเป็นพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เร่งด่วน) เกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งระยะทางรวม 180.9 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 10.9 ของแนวชายฝั่ง ทั้งนี้ชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวและเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงที่สุด โดยบางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่า 25 เมตรต่อปี

โดยเฉพาะตัวเมืองกรุงเทพมหานคร การศึกษาพบว่า มีการจมลงของตัวเมืองเร็วกว่าปกติอีกด้วย เนื่องจากมีการสูบน้ำใต้ดินจำนวนมหาศาลออกมาเพื่อใช้งานในช่วงหลายสิบปีที่่ผ่านมา เมื่อไม่มีแรงดันน้ำใต้ดิน น้ำหนักตัวเมืองที่มีอาคารสิ่งก่อสร้างมากมายมหาศาล ก็กดทับลงประกอบกับตามที่เราทราบมาข้างต้นว่าใต้กรุงเทพเคยเป็นทะเลโคลนตมมาก่อน ยิ่งทำให้อัตราการจมลงของตัวเมืองหลวงแห่งนี้มีมากขึ้นทุกที จากการศึกษาพบว่า ภายในปี 2050 กรุงเทพมหานครจะเริ่มประสบปัญหาน้ำทะเลสูงจนรับมือไม่ไหว ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรีบวางแผนหาทางแก้ไขโดยเร็วตั้งแต่วันนี้

 

อ้างอิง http://u-thongnews.blogspot.com.tr/2014/07/blog-post_20.html
http://www.oknation.net/blog/voranai/2007/05/29/entry-4
http://goo.gl/F4l4HZ

วัฏจักรสุริยะที่ 24

วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) คือ รอบของการเปลี่ยนแปลงปริมาณ “จุดดับของดวงอาทิตย์ ” (Sunspot) สมัยนี้อาจเรียกจุดมืด หรือจุดดำ สำหรับวัฏจักรสุริยะหนึ่งๆ จะกินระยะเวลาโดยประมาณ 11 ปี
ปริมาณของจุดดับนั้น ในช่วงต่ำสุด หรือ Solar Minimum อาจมีเพียง 2-3 จุด แต่ในช่วงที่มีมากที่สุด หรือช่วง  Solar Maximum อาจจะมากกว่า 160 จุดถึง 200 จุด

ในช่วงเริ่มวัฏจักร หรือ รอบ (cycle) ใหม่จะมีปริมาณของจุดดับน้อย และก็จะมีปริมาณจุดดับเพิ่มขึ้น และมากที่สุดในช่วงกลางวัฏจักร และค่อยๆน้อยลงในช่วงปลายวัฏจักร ก่อนจะเริ่มนับรอบ (cycle ) ใหม่อีกครั้ง
แต่ในบางครั้ง จำนวนจุดมืดก็ไม่ได้เป็นไปตามวัฏจักรสุริยะ โดยเฉพาะในระหว่างปี 1645-1715 เป็นช่วงระยะเวลาที่แทบจะไม่ปรากฏจุดมืดใดๆ บนผิวดวงอาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์เรียกช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ว่า “ช่วงต่ำสุดมอนเดอร์ (Maunder Minimum)”

สิ่งที่นักดาราศาสตร์ใช้เป็นตัวบอกจุดเริ่มต้นของวัฏจักร คือ การนับจำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์ ช่วงท้ายวัฏจักรจุดดับจะเกิดขึ้นบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร เมื่อวัฏจักรใหม่เริ่มต้นเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น จุดดับจะเกิดขึ้นอยู่ในแนวเส้นรุ้งที่สูง คือ ค่อนไปทางขั้วดวงอาทิตย์ ราว 25-30 องศาทั้งเหนือและใต้ และมีขั้วของสนามแม่เหล็กในจุดดับตรงข้ามกับรอบที่ผ่านมา เมื่อวัฏจักรเข้าสู่จุดสูงสุด จุดดับบนดวงอาทิตย์จะเคลื่อนตัวมาอยู่ใกล้กับแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจะถึงจุดสูงสุดเมื่อจุดดับมีจำนวนประมาณ 160 จุด อีก วิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือนำตำแหน่งของจุดดับมาเขียนแผนภูมิเทียบกับเวลา เราจะได้แผนภูมิที่มีรูปร่างคล้ายกับตัวผีเสื้อ (Butterfly Diagram)

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551 นักดาราศาสตร์ได้พบจุดมืดบนดวงอาทิตย์ที่มีขั้วแม่เหล็กสลับกับวัฏจักรที่ผ่านมา จุดมืดนั้นเกิดขึ้นที่ละติจูด 30 องศาเหนือ มีชื่อตามระบบเรียกของโนอาว่า เออาร์ 10981 (AR10981) หรือเรียกแบบย่อว่า จุด 981 จุดนี้มีขนาดใหญ่เท่าโลก แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเล็กเทียบกับจุดทั่วไปบนดวงอาทิตย์ มีอายุอยู่ได้เพียง 3 วันก็สลายไป แต่ก็นับเป็นการเริ่มต้นวัฏจักรใหม่อย่างเป็นทางการ

วัฏจักรสุริยะที่อยู่ถัดกันอาจมีการเหลื่อมเวลาเล็กน้อย ซึ่งอาจกินเวลานานถึงหนึ่งปี ดังนั้น แม้วัฏจักรใหม่จะเริ่มแล้ว แต่วัฏจักรที่ผ่านมาก็อาจจะยังไม่สิ้นสุดเสียทีเดียว นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังคิดว่า มีความเป็นไปได้ที่ วัฏจักรที่ 23 อาจจะยืดเยื้อเช่นเดียวกับ วัฏจักรที่ 20 ที่ครองแชมป์การเป็นวัฏจักรที่กินระยะเวลานานที่สุดก็เป็นได้

หน่วยวัดความเร็วในการเคลื่อนที่ของพายุ

หน่วยวัดความเร็วในการเคลื่อนที่ของพายุ จะใช้หน่วยวัดสากล เป็น น็อต (Knot แปลว่า ปม) เพราะชาวเรือโบราณวัดความเร็วในทะเลโดยการทิ้งทุ่นไม้ลอยทวนน้ำพร้อมเชือกผูกปม แล้วนับปมเป็นการวัดความเร็ว

ทีนี้เรามาดูว่า 1 น็อต คือเท่าไร ตอบว่า 1 น็อต คือความเร็ว 1 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง
ทำไมถึงเป็นไมล์ทะเล นั่นเพราะในทะเลกว้าง มีแต่น้ำกับฟ้า จึงอ้างอิงฟ้าเวลาเดินทาง โดยวัดจากดวงดาวเทียบการหมุนของโลก
เมื่อแบ่ง 1 องศาที่เส้นศูนย์สูตรออกเป็น 60 ลิปดา จึงกำหนด ระยะ 1 ลิปดานี้ จะมีค่าเท่ากับ 1 ไมล์ทะเล นั่นคือหาก 1 ชั่วโมง เรือแล่นไปเทียบดาวบนฟ้าได้ 1 ลิปดา แปลว่า เรือไปได้เร็ว 1 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง หรือ 1 น็อตนั่นเอง
เวลาใช้กับพายุ ก็ใช้แบบเดียวกันนี้ คือใช้น็อต แบบเดียวกับเรือ
เวลาแปลงเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง (แบบอเมริกัน) ให้คูณด้วย 1.852 * วิธีจำเวลากดแป้นคอม เลข 852 จะเรียงเป็นเส้นตรง*

ปี 2011 โลกร้อนทำสถิติสูงสุดเป็นปีที่ 9


อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก เพิ่มสูงขึ้นตลอดจากช่วงปี 1880 หรือ 131 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2011 หรือปีที่แล้ว อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ทำสถิติสูงสุดเป็นปีที่ 9 ในจำนวนปีทั้งหมดตั้งแต่เริ่มบันทึก และจากกราฟด้านบน เราจะเห็นชัดเจนว่าก่อนปี 2000 มีปีเดียวที่โลกร้อนทำสถิติสูงสุดคือปี 1998 แต่หลังจากปี 2000 เป็นต้นมา ไม่มีปีไหนเลยที่โลกเราจะกลับเย็นลงไปได้อีก โดยสาเหตุหลักของอุณหภูมิที่ทวีสูงขึ้นยังเป็นที่ถกเถียงกันว่ามาจากวัฏจักรโดยปกติของโลกเราเองหรือจากการสะสมตัวของคาร์บอนและสภาพเรือนกระจกโดยฝีมือมนุษย์ อย่างไรก็ตาม อุณหูมิที่เพิ่มสูงในทศวรรษล่าสุดนี้ ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ต่อสภาพลมฟ้าอากาศที่วิปริตแปรปรวน หรือที่เรียกว่า “ภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme weather)”

ภาพแสดงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (ส่วนต่อล้านส่วน)ภาพแสดงการเพิ่มขึ้นสูงผิดปกติในอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลและผิวดินตั้งแต่ปี 1880

ภาพแสดงการเพิ่มขึ้นสูงผิดปกติในอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลและผิวดินตั้งแต่ปี 1880ภาพด้านบน แสดงปริมาณฝนที่เพิ่มสูงผิดปกติในปี 2010 และ 2011
ขนาดของขั้วโลกเหนือเปรียบเทียบระหว่างปี 2011 จะเห็นว่าเล็กกว่าช่วงปี 1979-2000 มาก

คลื่นสึนามิยักษ์ที่อ่าวไลทูยา เมื่อปี 2501

คลื่นสึนามิยักษ์ ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดสูงกว่าตึกเอ็มไร์เสตท เกิดขึ้นในวันที่ 9 กรกฏาคม 2501 ที่อ่าวไลทูยา รัฐอลาสกา สหรัฐอเมริกา


ภาพอนิเมชันแสดงลักษณะการเกิดหินถล่มและสึนามิ
ต้นเหตุของคลื่นมหายักษ์ครั้งนี้ เกิดจากแผ่นดินไหวทำให้หน้าผาหินขนาดใหญ่ด้านก้นอ่าว ทำให้หินปริมาตรมากกว่า 60 ล้านลูกบาศเมตร น้ำหนักหลายล้านตันถล่มลงในน้ำที่ก้นอ่าว ก่อให้เกิดคลื่นมหายักษ์ ยอดคลื่นสูงถึง 524 เมตร กวาดต้นไม้บนยอดเขาริมหน้าผาฝั่งตรงข้าม ที่มีระดับหน้าผาสูงจากน้ำทะเลถึง 520 เมตรจนหมดสิ้น
ภาพเปรียบเทียบขนาดคลื่นสึนามิยักษ์ในครั้งนั้น
คลื่นมหายักษ์เคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่า 600 ไมล์ต่อชั่วโมง เคลื่อนที่ออกจากจุดที่หินถล่มกวาดทุกสิ่งทุกอย่างตลอดแนวอ่าวตรงสู่ปากอ่าว ในขณะนี้ มีเรือประมงสามลำอยู่บิรเวณนั้น เรือลำแรกล่มลงพร้อมผู้เสียชีวิตสองราย แต่อีกสองลำกลับรอดโดยปฏิหารย์ รายชื่อลูกเรือที่รอดชีวิตในครั้งนั้นได้แก่ Adam Gray, William A. Swanson และ Howard G. Ulrich ซึ่งได้ยืนยันว่าเรือของพวกเขาได้ลอยขึ้นบนยอดคลื่นโดยไม่ได้ถูกม้วนหายไปเช่นลำแรก อย่างไรก็ตาม คลื่นมหายักษ์ครั้งนี้ ได้สลายตัวไปอย่างรวดเร็ว ประมาณเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดและจบในเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น
รูปที่ 2 จุดที่ลูกศรชี้ คือจุดหน้าผาสูง 1,720 ฟุตที่ลูกคลื่นยักษ์สูงที่สุดในโลกเข้าปะทะ โดยฝั่งตรงข้ามคือส่วนที่หน้าผาหินถล่มลงน้ำ เป็นจุกเริ่มต้นของสึนามิในครั้งนี้
การวิเคราะห์คลื่นมหายักษ์แบบละเอียด จากบทความของ George Pararas-Carayannis

วิธีการอ่านกราฟแผ่นดินไหว (Seismogram)

เราจะอ่านกราฟแผ่นดินไหวได้อย่างไร?

Seismogram คือเส้นกราฟที่เกิดขึ้นโดยการบันทึกการสะบัดไปมาของปากกาที่เหวี่ยงจากแรงสั่นไหวของพื้นดินของเครื่อง Seismograph  โดยเครื่องจะบันทึกการสั่นสะเทือนทุกชนิดโดยไม่สนใจแหล่งที่มา บางครั้ง ความสั่นไหวก็มาจากรถบรรทุกหนัก จากคลื่นทะเลลูกโตๆที่กระทบฝั่ง หรือแม้จากแรงลม จุดหรือเส้นเล็กๆบนกราฟก็จะโผล่ขึ้นมา แต่เราจะอ่านค่าและแยกแยะมันได้จากแผ่นดินไหวจริงโดยอาศัยความเข้าใจดังจะกล่าวต่อไปนี้

 

รูปที่ 1 – SEISMOGRAM แบบหนึ่งที่เห็นได้ค่อนข้างบ่อย.

จากกราฟในรูปที่ 1 จะเห็นเส้นเล็กๆซ้ายมือ นั่นคือเครืองหมายขั้นเวลา ปกติจะเป็น “นาที” โดยจะปรากฏขึ้นบนกราฟทุก 1 นาที

ถัดไป คือคลื่นที่จับได้จาก  P wave หรือคลื่นแผ่นดินไหวปฐมภูมิ   คลื่นนี้สามารถเคลื่อนที่ผ่านตัวกลางที่เป็นของแข็ง และของเหลว โดยมีความเร็วประมาณ 6 – 8 กิโลเมตร/วินาที ซึ่งจะเป็นคลื่นแรกสุด ที่มาถึงเครื่องวัด

จากนั้นก็เป็น  คลื่นทุติยภูมิ (S wave) คลื่นชนิดนี้ผ่านได้เฉพาะตัวกลางที่เป็นของแข็งเท่านั้น ไม่สามารถเดินทางผ่านของเหลว คลื่นทุติยภูมิมีความเร็วประมาณ 3 – 4 กิโลเมตร/วินาที ทำให้มาถึงเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวช้ากว่าเป็นอันดับ 2

ภาพที่ 2 การเดินทางของ P wave และ S wave ขณะเกิดแผ่นดินไหว

          ขณะที่เกิดแผ่นดินไหว  จะเกิดแรงสั่นสะเทือนขยายแผ่จากศูนย์เกิดแผ่นดินไหวออกไปโดยรอบทุกทิศทุกทาง เนื่องจากวัสดุภายในของโลกมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน และมีสถานะต่างกัน คลื่นทั้งสองจึงมีความเร็วและทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปดังภาพที่ 2 คลื่นปฐมภูมิหรือ P wave สามารถเดินทางผ่านศูนย์กลางของโลกไปยังซีกโลกตรงข้ามโดยมีเขตอับ (Shadow zone) อยู่ระหว่างมุม 100 – 140 องศา แต่คลื่นทุติยภูมิ หรือ S wave ไม่สามารถเดินทางผ่านชั้นของเหลวได้ จึงปรากฏแต่บนซีกโลกเดียวกับจุดเกิดแผ่นดินไหว โดยมีเขตอับอยู่ที่มุม 120 องศาเป็นต้นไป

คลื่นกลุ่มที่ 3 คือคลื่น surface wave ปะรกอบด้วยคลื่น Love และ Rayleigh จะต่างออกไป คลื่นสองตัวนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าคลื่น P และ S แต่มีความถี่ต่ำกว่า อีกทั้งยังเคลื่อนที่ได้ช้าที่สุด คลื่นกลุ่มนี้ คือกลุ่มหลักที่ก่อให้เกิดการทำลายล้างนั่นเอง

เครื่องมือวัด  Seismograph นั้น จะมีกราฟออกมาอย่างน้อย 3 ชุด คือกราฟที่วัดตามแนวแกน X หรือตะวันออกตะวันตก ตามแนวแกน Y หนือเหนือใต้ สองแกนนี้เพื่อหาตำแหน่งทิศทางในแนวราบ และกราฟตามแนวแกน Z หรือแนวตั้ง เพื่อหาทิศทางตามส่วนโค้งของโลกและเพื่อกำหนดหาความแรงของการสั่นสะเทือนในแนวนี้ การอ่านกราฟต้องเอาค่าทั้ง 3 แกนมาตีความรวมกันอีกทั้งคำนวนจากระยะเวลา ก็จะได้ตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหวและขนาดความแรงโดยประมาณเบื้องต้นได้

 

ครบรอบ 2 ปีแผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวในเฮติ พ.ศ. 2553 เป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ซึ่งมีความรุนแรง 7.0 ตามมาตราขนาดโมเมนต์ โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของประเทศเฮติ ไปราว 25 กิโลเมตร แผ่นดินไหวเกิดขึ้น ณ 04.53 นาฬิกา ในเช้าวันพุธที่ 13 มกราคม ตามเวลาประเทศไทยและได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกซึ่งวัดขนาดความรุนแรงได้กว่า 4.5 หรือมากกว่า อีกหลายครั้ง

แผ่นดินไหวในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก แต่เกิดจากรอยเลื่อน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักโดยเฉพาะเมืองหลวง กรุงปอร์โตแปรงซ์ สาเหตุเป็นเพราะว่าเมืองตั้งอยู่ในบริเวณอ่าว ซึ่งดินบริเวณอ่าวจะเป็นดินอ่อนมีลักษณะเป็นโคลนชุ่มด้วยน้ำ (เช่นเดียวกับในกรุงเทพมหานคร) ซึ่งสามารถขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวให้รุนแรงขึ้นได้

รัฐบาลเฮติรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 217,000 และ 230,000 คน ประมาณการผู้ได้รับบาดเจ็บ 300,000 คน และอีก 1,000,000 ไม่มีที่อยู่อาศัย มีบ้านเรือน 250,000 หลัง และอาคารพาณิชย์อีกกว่า 30,000 หลัง พังทลายหรือเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

รายงานสดจาก Sky News ขณะเกิดเหตุในวันนั้น