วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) คือ รอบของการเปลี่ยนแปลงปริมาณ “จุดดับของดวงอาทิตย์ ” (Sunspot) สมัยนี้อาจเรียกจุดมืด หรือจุดดำ สำหรับวัฏจักรสุริยะหนึ่งๆ จะกินระยะเวลาโดยประมาณ 11 ปี
ปริมาณของจุดดับนั้น ในช่วงต่ำสุด หรือ Solar Minimum อาจมีเพียง 2-3 จุด แต่ในช่วงที่มีมากที่สุด หรือช่วง Solar Maximum อาจจะมากกว่า 160 จุดถึง 200 จุด
ในช่วงเริ่มวัฏจักร หรือ รอบ (cycle) ใหม่จะมีปริมาณของจุดดับน้อย และก็จะมีปริมาณจุดดับเพิ่มขึ้น และมากที่สุดในช่วงกลางวัฏจักร และค่อยๆน้อยลงในช่วงปลายวัฏจักร ก่อนจะเริ่มนับรอบ (cycle ) ใหม่อีกครั้ง
แต่ในบางครั้ง จำนวนจุดมืดก็ไม่ได้เป็นไปตามวัฏจักรสุริยะ โดยเฉพาะในระหว่างปี 1645-1715 เป็นช่วงระยะเวลาที่แทบจะไม่ปรากฏจุดมืดใดๆ บนผิวดวงอาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์เรียกช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ว่า “ช่วงต่ำสุดมอนเดอร์ (Maunder Minimum)”
สิ่งที่นักดาราศาสตร์ใช้เป็นตัวบอกจุดเริ่มต้นของวัฏจักร คือ การนับจำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์ ช่วงท้ายวัฏจักรจุดดับจะเกิดขึ้นบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร เมื่อวัฏจักรใหม่เริ่มต้นเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น จุดดับจะเกิดขึ้นอยู่ในแนวเส้นรุ้งที่สูง คือ ค่อนไปทางขั้วดวงอาทิตย์ ราว 25-30 องศาทั้งเหนือและใต้ และมีขั้วของสนามแม่เหล็กในจุดดับตรงข้ามกับรอบที่ผ่านมา เมื่อวัฏจักรเข้าสู่จุดสูงสุด จุดดับบนดวงอาทิตย์จะเคลื่อนตัวมาอยู่ใกล้กับแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจะถึงจุดสูงสุดเมื่อจุดดับมีจำนวนประมาณ 160 จุด อีก วิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือนำตำแหน่งของจุดดับมาเขียนแผนภูมิเทียบกับเวลา เราจะได้แผนภูมิที่มีรูปร่างคล้ายกับตัวผีเสื้อ (Butterfly Diagram)
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551 นักดาราศาสตร์ได้พบจุดมืดบนดวงอาทิตย์ที่มีขั้วแม่เหล็กสลับกับวัฏจักรที่ผ่านมา จุดมืดนั้นเกิดขึ้นที่ละติจูด 30 องศาเหนือ มีชื่อตามระบบเรียกของโนอาว่า เออาร์ 10981 (AR10981) หรือเรียกแบบย่อว่า จุด 981 จุดนี้มีขนาดใหญ่เท่าโลก แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเล็กเทียบกับจุดทั่วไปบนดวงอาทิตย์ มีอายุอยู่ได้เพียง 3 วันก็สลายไป แต่ก็นับเป็นการเริ่มต้นวัฏจักรใหม่อย่างเป็นทางการ
วัฏจักรสุริยะที่อยู่ถัดกันอาจมีการเหลื่อมเวลาเล็กน้อย ซึ่งอาจกินเวลานานถึงหนึ่งปี ดังนั้น แม้วัฏจักรใหม่จะเริ่มแล้ว แต่วัฏจักรที่ผ่านมาก็อาจจะยังไม่สิ้นสุดเสียทีเดียว นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังคิดว่า มีความเป็นไปได้ที่ วัฏจักรที่ 23 อาจจะยืดเยื้อเช่นเดียวกับ วัฏจักรที่ 20 ที่ครองแชมป์การเป็นวัฏจักรที่กินระยะเวลานานที่สุดก็เป็นได้
Pingback: ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ 20 ปี จาก 1996-2015 ครบรอบ 1 วัฎจักรสุริยะ | STEM.in.th