เมืองไทย ใช้คำว่า “ริกเตอร์” ถูก หรือ ผิดอย่างไร

แผ่นดินไหว มี 2 เรื่องที่ต้องใส่ใจ คือ ขนาด และ ความรุนแรง ซึ่ง 2 เรื่องนี้แตกต่างกัน แต่สื่อและผู้คนส่วนมากแยกไม่ออก ใช้ปนกันจนสับสน

ขนาด ก็เหมือนเบอร์หลอดไฟ จะตายตัวตลอด

ความรุนแรง เหมือน ความสว่าง ซึ่งขึ้นกับระยะห่างจากหลอดไฟ

ขนาด ของแผ่นดินไหว วัดด้วยมาตราต่างๆกันได้มากมาย แล้วแต่สูตร และชนิดของคลื่น แต่ที่นิยมกันมี 4 มาตราคือ

  1. มาตราท้องถิ่น หรือ ML หรือที่รู้จักกันว่า มาตราริกเตอร์ 
  2. มาตราคลื่นตัวกลาง หรือ mb
  3. มาตราคลื่นผิว หรือ MS
  4. มาตราโมเมนต์ หรือ Mw

และยังมีการพัฒนาจาก 4 ตัวนี้ออกไปอีก เช่น  MLv MLh MN Mc  mb_lg mB  Mwp Mw(mB) Mi Me Ms Md MJ เป็นต้น

ข้อสำคัญ มาตรา (Scale) เหล่านี้ ไม่ใช่หน่วย (Unit)

มันคล้ายมาตราวัดขนาดพายุ ซัฟเฟอร์-ซิมป์สัน มาตราความแข็งของแร่ โมส์ ซึ่งไม่ใช่หน่วย เวลาพูดเราจะจะไม่ระบุมาตราก็ได้ เช่น พายุไต้ฝุ่นระดับ 5 หรือระบุไปเลยว่า พายุไต้ฝุ่นระดับ 5 ตามมาตราซัฟเฟอร์-ซิมป์สัน

เราพูดว่า เพชรมีความแข็งระดับ 10 หรือ ทับทิมมีความแข็งระดับ 9 ตามมาตราของ โมส์

ริกเตอร์ก็เป็นแบบเดียวกัน เป็นมาตรา (ส่วนใหญ่ชื่อมาตราจะเป็นชื่อคนคิดค้น) เราจะรายงานขนาดแผ่นดินไหวว่า แผ่นดินไหวขนาด 6.0 หรือ แผ่นดินไหวขนาด 5.5 ตามมาตราริกเตอร์

เราไม่พูดว่าแผ่นดินไหว 5 ริกเตอร์ ไม่พูดว่าแร่ยิปซัมแข็ง 2 โมส์ ไม่พูดว่าพายุไห่เยี่ยนมีความแรง 5 ซัฟเฟอร์-ซิมป์สัน

สรุปว่า การรายงานขนาดแผ่นดินไหวนั้น ต้องมีคำว่า “ตามมาตรา” เสมอ

ข้อจำกัดของแต่ละมาตรานั้น เกิดจากชนิดและวิธีคำนวน โดย มาตราริกเตอร์ (ML) พบข้อจำกัดในการวัดขนาดของแผ่นดินไหวที่ใหญ่กว่า 7 และไม่สามารถวัดแผ่นดินไหวที่ไกลกว่า 600 กม.ได้ มาตราคลื่นผิว (MS) พบข้อจำกัดในการวัดขนาดของแผ่นดินไหวที่ใหญ่กว่า 8.5 เป็นต้นele-EarthquakeMagnetude-2 (1)ในปี 1972 นักแผ่นดินไหวชื่อ Kanamori จึงได้คิดค้นมาตราโมโมนต์ Mw ขึ้นมา ซึ่งหลุดพ้นข้อจำกัดทั้งปวง สามารถวัดขนาดแผ่นดินไหวที่ใหญ่กว่า 4.0 ขึ้นไปโดยไม่ผิดพลาด

จากความจริงข้อนี้ หากเกิดแผ่นดินไหว และมีการรายงานขนาด เราต้องมั่นใจ ว่าต้นฉบับนั้นระบุมาตรามาด้วยว่าวัดเป็นแบบ ML mb MS หรือ Mw หากไม่ระบุมา หรือไม่แน่ใจ ก็ไม่ต้องพูดถึงมาตรา เช่น รายงานเหตุการณ์ว่า “เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่ฮอกไกโด” แบบนี้ก็สมบูรณ์แล้ว

แต่หากอยากดูดี อยากพูดภาษาอังกฤษ ให้ก็พูดว่า “แมกนิจูด” แทน “ขนาด” เช่น “เกิดแผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.7 ที่ฮอกไกโด” แบบนี้ก็ได้

แต่หากต้นฉบับระบุแน่ชัดว่าวัดด้วยมาตราใด ก็จึงค่อยระบุไป เช่นต้นฉบับบอกว่าเป็น Mw7.7 เราก็รายงานว่า  “เกิดแผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.7 ตามมาตราโมเมนต์ ที่ฮอกไกโด”

Latest Earthquakes in the world - earthquakes 2014

ในวงกลมคือมาตราวัดที่สำนักแผ่นดินไหว EMSC ระบุมา

 

สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของกรมอุตุไทยวัดได้แบบเดียวคือ ML ดังนั้น ข่าวแผ่นดินไหวจากสำนักเฝ้าระวังฯ ทุกข่าวจะวัดมาเป็นริกเตอร์หมด เราจึงรายงาน “เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.9 ตามมาตราริกเตอร์ที่ จ.ลำปาง” ได้ทันที (ห้ามตัดตามมาตราออก เพราะกล่าวมาข้างต้น ริกเตอร์ไม่ใช่หน่วยแบบกิโลกรัม ขวด เราจึงใช้คำว่า 2.9 ริกเตอร์ไม่ได้ มันผิด)

และข้อควรระวัง แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ยังไงก็ไม่ใช่ริกเตอร์ เพราะมันใหญ่เกินข้อจำกัด (เกิน 7.0) และไกลเกินวัด (เกิน 600 กม.) ดังนั้นจะไปพูดว่าแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ที่สุมาตราไม่ได้ ผิดเละเทะ

ส่วนความรุนแรง อันนี้คือผลที่เกิดกับสิ่งต่างๆ มีค่าต่างกันไปตามระยะทาง มีค่าสูงสุดที่ epicenter หรือจุดเหนือจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยมาตราวัดของความรุนแรงมีดังนี้

  1. มาตราเมอร์คัลลีย์ ใช้โดยสหรัฐฯ ไทย ฮ่องกง ทั้งหมดมี 12 ระดับ เขียนด้วยตัวโรมัน ห้ามเขียนเป็นอารบิค เช่น รายงานว่า แผ่นดินไหวที่เชียงรายวันที่ 5 พ.ค.57 เวลา 18:08 ความรุนแรงระดับ VIII ตามาตราเมอร์คัลลี ซึ่งรายงานแบบนี้ หมายถึงความรุนแรงระดับแปดที่จุดเหนือจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว
  2. มาตราชินโดะ ใช้โดยญี่ปุ่น ไต้หวัน มี 10 ระดับ 7 ขั้นได้แก่ ระดับ 0 ถึง 4 จากนั้นก็ 5弱 กับ5強 ต่อไปก็ 6弱 กับ6強 และระดับ  7 คือสูงสุด
  3. มาตรา MSK  ใช้โดยรัสเซีย อิสราเอล อินเดีย
  4. มาตรา EMS ใช้โดยกลุ่มประเทศยุโรป
  5. มาตรา Leidu ใช้โดยประเทศจีน

ดังนั้นจึงควรระวังการรายงานข่าวแผ่นดินไหว อย่าสับสน “ขนาด” กับ “ความรุนแรง” เพราะมันคนละเรื่อง ใช้แทนกันไม่ได้ และ ไม่ตัดคำว่า “ตามมาตรา” ออกสำหรับขนาด ส่วนจะใช้ริกเตอร์ได้ก็เฉพาะข่าวจากกรมอุตุที่วัดในไทย ถ้าข่าวมาจากต่างประเทศ ต้องดูให้ดีว่ามาตราไหน ถ้าไม่มั่นใจก็ไม่ต้องใส่มาตรา แค่พูดว่า “แผ่นดินไหวขนาด 5.0  ” ก็ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว

*สูตรหาขนาดแผ่นดินไหวของสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวฯ ใช้สูตร ML=log A_max – 2.48 + 2.76 log ∆  โดยส่วนของการลดทอน (Distance attenuation) ในสูตรนี้  คือ 2.48 + 2.76 log ∆ นั้นไปเอาสูตรมาตราฐานสากลมาใช้เลย ยังไม่มีการปรับตัวเลขให้เข้ากับสภาพธรณีของไทย ค่าที่ได้จึงยังไม่เที่ยงตรงดีนัก

**หมายเหตุ คำว่า “แมกนิจูด” ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับมาตราเลย คำๆนี้เป็นคำขยายความ แปลว่า “ขนาด” ซึ่งชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ เป็นคนแรกที่นำมาใช้ วิธีใช้คำนี้ในประโยคเต็มๆคือ  แผ่นดินไหวแมกนิจูด 5.0 ตามมาตราอะไรก็ว่าไป

 

 

 

 

 

 

 

12 ความคิดเห็นเกี่ยวกับ “เมืองไทย ใช้คำว่า “ริกเตอร์” ถูก หรือ ผิดอย่างไร

  1. แปลว่า ถ้าเราจะเลือกใช้มาตราริกเตอร์ ก็คือหน่วยของขนาดแผ่นดินไหว ส่วนมาตราเมอร์คัลลี่คือหน่วยความรุนแรงของแผ่นดินไหว เข้าใจถูกต้องไหมคะ เพราะจากการทำรายงานเคยโดยทักท้วงเรื่องนี้ค่ะ ใน Comment บอกว่าถ้าจะใช้หน่วยริกเตอร์ก็ให้ใช้ริกเตอร์ทั้งหมด ซึ่งเราเขียนไว้ว่า ศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวที่ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ขนาด 6.3
    ริคเตอร์ ความรุนแรงแผ่นดินไหวในระดับ 7 เมอร์คัลลี่ ความรุนแรงแผ่นดินไหวในระดับแรงมาก (ฝ่าห้องแยก ร้าว กรุเพดานร่วง 22-40 %g)
    ซึ่งก็ได้แยกกันอย่างชัดเจนค่ะว่าริกเตอร์ใช้กับขนาดแผ่นดินไหว เมอร์คัลลี่ใช้กับความรุนแรง เลยมีข้อสงสัยค่ะ รบกวนผู้รู้ช่วยให้คำตอบด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

  2. ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นจะนำควารู้เรื่องการอ่านค่าแผ่นดินไหวไปบอกกต่อกับสมาชิกในระบบzelloต่อไป..เชิญทุกท่านโหลดแอพzello walkie talkei เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้เป็นวิทยุสื่อสารเพื่อร่วมกันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังภัยพิบัติ

  3. Pingback: ประวัติโกเบ | BlogBlog

  4. ล่าสุดที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวซ้ำที่เนปาล (12/05/2015) สื่อไทยทุกสำนักรายงานข่าวโดยใช้ข้อความและคำพูดเพียงแค่ว่า 7.3 เฉยๆ เท่านั้น ไม่ได้บอกว่าใช้หน่วยของอะไรเลย
    ดังนั้น จากบทความข้างบนที่ได้บอกไว้ว่า “ขนาด” กับ “ความรุนแรง” มันต่างกัน แล้วเราจะทราบได้อย่างไรครับว่า 7.3 นี่ มันเป็นหน่วยวัดของอะไร และมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน อย่างไรครับ

    • ปกติการรายงานข่าวทั่วไปเกือบทั้งหมดจะเป็นเรื่องของขนาดครับ โดยไม่ต้องมีคำว่าอะไรประกอบด้วย

      วิธีสังเกตหากจะเป็นเรื่องของความรุนแรงคือ
      1.มันจะไม่มีเศษทศนิยม
      2.จะต้องระบุสถานที่เสมอ เช่น ความรุนแรงระดับ 4 ที่เกียวโต หมายถึงมาตราชินโดะระดับ 4 ระบุสถานที่ เพราะความรุนแรงจะเปลี่ยนไปตามสถานที่

      แต่สำหรับขนาดนั้น สถานีวัดแผ่นดินไหวที่อเมริกาเช่น USGS หรือุยุโรปเช่น EMSC ก็จะวัดขนาดได้เท่ากันหมดเช่นวัดที่เนปาลได้ 7.3

  5. ขออนุญาตสอบถามครับ

    แล้วถ้าแผ่นดินไหวขนาด 7 ตามมาตราริกเตอร์ ขนาดมันจะเท่ากันกับมาตราอื่นๆไหมครับ เช่น 7 ตามมาตราคลื่นตัวกลาง = 7 ตามมาตราคลื่นพื้นผิว = 7 ตามมาตราโมเมนต์

    แล้วถ้าไม่เท่ากัน เวลาเราระบุแค่เป็น “แผ่นดินไหวขนาด 7” เราจะรู้ได้อย่างไรว่า 7 ไหน หรือต้องดูโซนประเทศนั้นๆที่แจ้งข่าวเข้ามา ว่าเค้าใช้มาตรฐานหน่วยวัดอะไร ประมาณนี้หรือเปล่าครับ

    • แต่ละมาตราจะได้ตัวเลขออกมาไม่เท่ากันครับ ซึ่งหน่วยงานที่วัดขนาดเช่น USGS EMSC หรือ Geofon เค้าจะบอกมาในรายงานของเค้าเลยว่า ค่าที่ได้มานั้นวัดเป็นมาตราอะไร

  6. ขอบคุณครับที่มีคุณอาสาทำหน้าที่ให้ความรู้ความกระจ่าง เฝ้าระวัง และย้ำเตือน ภัยพิบัติแก่สาธารณชน

  7. ได้ความรู้ที่ถูกต้องมากขึ้น ข่าวสารเป็นปัจจุบัน ถ้าเพิ่มภัยพิบัติที่เกิดจากการกระทำมนุษย์ สัตว พืช สิ่งมีชีวิตทุกขนาด น่าจะสมบูรณ์แบบคือ ภัยพิบัติทางธรณีภาค บรรยากาศภาค อุทกภัย และชีวภาค
    ขอบคุณที่สร้างเว็ปนี้ครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *