Thunderstorms แปลตรงๆว่า พายุฝนฟ้าคะนอง (ไม่ได้มีลมหมุนแบบพายุหมุนเขตร้อนที่เราเข้าใจกันตามปกติ) แต่กรมอุตุไทยจะเรียก พายุฤดูร้อน เพราะมักเกิดในฤดูร้อน บางทีเรียกแบบนี้ อาจสร้างความสับสนให้ประชาชนผู้รับข่าวสารได้
พายุฤดูร้อนจะเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน แล้วมีมวลอากาศเย็น หรือที่เรียกว่าความกดอากาศสูงพัดมาปะทะกับมวลอากาศร้อน หรือความกดอากาศต่ำ การที่อากาศสองกระแสมากระทบกัน จะส่งผลให้อากาศในบริเวณนั้นแปรปรวนเกิดความรุนแรงจนกลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนองขึ้น
สำหรับประเทศไทย พายุฤดูร้อน มักเกิดจากการที่ความกดอากาศสูงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคุลมประเทศไทยในจังหวะที่มีความกดต่ำปกคลุมอยู่ก่อนเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้เกิดการปะทะกัน ระหว่างอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทยจากความกดต่ำ และอากาศที่แห้งและเย็นจากประเทศจีนจากความกดสูง
การปะทะกันแบบนี้ อากาศเย็นจะผลักให้อากาศร้อนชื้นลอยตัวขึ้นสู่ข้างบนอย่างรวดเร็ว จนเมื่อไอความชื้นขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ จนก่อตัวเป็นเมฆเมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus หรือ Cb) ที่มีลักษณะเป็นเมฆรูปทั่งขนาดยักษ์ สูงหลายสิบกิโลเมตร
เมฆคิวมูโลนิมบัส หรือ เมฆฝนฟ้าคะนอง จะทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรง เกิดฟ้าแลบและฟ้าผ่าตามมา มีการยกตัวของอากาศร้อนบนพื้นอย่างรวดเร็ว อากาศเย็นกว่าในระนาบพื้นจะไหลมาแทนที่อย่างทันทีทันใด ทำให้เกิดลมกรรโชกแรงกระทันหัน ลมนี้เป็นเหมือนลมพายุใต้ก้อนเมฆที่ก่อตัวแบบกระทันหัน และหากอุณหภูมิบนยอดเมฆต่ำกว่า ลบ 60 ถึง ลบ 80 องศาเซลเซียส ก็สามารถทําให้เกิดลูกเห็บตกได้ แต่เหตุการณ์ทั้งหมด จะจบใน 2 ชั่วโมงเป็นอย่างมาก ในแต่ละจุด จากนั้นเมฆ Cb นี้จะสลายตัวอย่างรวดเร็ว เหลือฝนโปรยปรายธรรมดา
พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ใกล้ประเทศจีนมากกว่าภาคอื่นๆ จะเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อนมากที่สุด
อันตรายที่อาจเกิด และวิธีป้องกัน
- อันตรายจากฟ้าผ่า ให้ติดตั้งสายล่อฟ้าในอาคารสูงๆ หลักเลี่ยงการออกไปยืนในที่โล่งแจ้งในขณะเกิดพาายุฝนฟ้าคะนองนี้
- อันตรายจากลมกรรโชกแรง ให้ระวังป้ายโฆษณา หลังคาบ้าน จะปลิวมาทับ ให้ปิดประตูหน้าต่างบ้าน อุดช่องว่างไม่ให้ลมเข้า เพราะลมจะเข้ามายกตัวทำให้โครงสร้างบ้านเสียหาย
- ระวังลูกเห็บตกใส่
- ระวังต้นไม้ใหญ่โค่นล้ม เสาทีวีหัก และอาจเกิดไฟรั่วจากน้ำที่เจิ่งนองพื้น
Pingback: อาทิตย์ 26 ก.พ. 55 | เว็บภัยพิบัติ Paipibat.com
Pingback: เสาร์ 25 ก.พ. 2555 | เว็บภัยพิบัติ Paipibat.com