สหรัฐฯ – Alise Henry ถ่ายภาพนาคเล่นน้ำหลายตัว จากนอกชายฝั่ง Pascagoula รัฐมิสซิสซิปปี วันนี้ พายุนาคเล่นน้ำ หรือ พวยน้ำ (waterspout) เป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะคล้ายท่อน้ำขนาดใหญ่เชื่อมต่อระหว่างผืนฟ้าและ พื้นน้ำ ซึ่งเกิดจากการที่มวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า โดยบริเวณใกล้ๆ ผิวน้ำมีความชื้นสูงและไม่ค่อยมีลมพัด ทำให้อากาศที่อยู่ติดกับผืนน้ำยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้อากาศโดยรอบไหลเข้ามาแทนที่ จากนั้นจึงพุ่งเป็นเกลียวขึ้นไป
ในช่วงที่อากาศพุ่งขึ้นเป็นเกลียววนนี้ หากน้ำในอากาศยังอยู่ในรูปของไอน้ำ เราจะยังมองไม่เห็นอะไร แต่หากอากาศขยายตัว และเย็นตัวลงถึงจุดหนึ่ง ไอน้ำก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจำนวนมาก ทำให้เราเห็นท่อหรือ “งวงช้าง” เชื่อมผืนน้ำและเมฆ
พายุนาคเล่นน้ำ ส่วนใหญ่มีความยาวประมาณ 10-600 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1-10 เมตร ซึ่งในนาคเล่นน้ำแต่ละตัวอาจมีท่อหมุนวนเพียงท่อเดียวหรือหลายท่อได้ โดยแต่ละท่อจะหมุนด้วยอัตราเร็วในช่วง 20-80 เมตรต่อวินาที กระแสลมในตัวพายุมีความเร็วถึง 100-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจมีความเร็วสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถพลิกคว่ำเรือเล็กๆ ได้
นอกจากพายุนาคเล่นน้ำจะหมุนวนรอบตัวเองแล้ว นาคเล่นน้ำยังสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วตั้งแต่ 3-130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ค่อนข้างช้า ประมาณ 18-28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นจึงมีคำแนะนำสำหรับชาวเรือให้สังเกตทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุ แล้วหันเรือหนีไปในทิศตรงกันข้าม
การเกิดพายุนาคเล่นน้ำอยู่ในช่วง 2-20 นาที (แต่เคยพบนานถึง 30 นาที) และหากนาคเล่นน้ำขึ้นฝั่ง ก็จะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว
เรียบเรียงจากบทความ “พายุนาคเล่นน้ำ” : สะพานเชื่อมนภาและวารี” โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ