เมื่อเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งได้พุ่งเข้าสู่โลกและระเบิดขึ้นในบรรยากาศสูงขึ้นไป 37 กิโลเมตรเหนือน่านฟ้าของประเทศซูดาน ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีชื่อว่า 2008 TC3 ซึ่งถูกค้นพบก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวัน
แม้นักดาราศาสตร์บางคนเชื่อว่าการระเบิดนั้นจะทำลายเนื้อเดิมไปจนหมดสิ้นกลางอากาศ แต่ปฏิบัติการค้นหาชิ้นส่วนดาวเคราะห์น้อยก็เกิดขึ้นที่ทะเลทรายนิวเบียน และการค้นหานี้ก็ได้ผลลัพท์ที่ไม่คาดฝัน
นักศึกษาและเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยคาร์ทอม ขณะกำลังเตรียมค้นหาเศษอุกกาบาต
การค้นหาดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเซติและมหาวิทยาลัยคาร์ทอม โดยค้นหาเป็นระยะทางยาว 29 กิโลเมตรในเส้นทางที่คำนวณจากทิศทางที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้าสู่โลก เพียงสองชั่วโมงหลังจากการค้นหาเริ่มต้นก็พบเศษอุกกาบาตชิ้นแรก และเมื่อสิ้นสุดการค้นหา ก็นับจำนวนได้ทั้งสิ้น 280 ชิ้น ชิ้นที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดเท่าไข่ไก่
“นี่เป็นโอกาสที่พิเศษจริง ๆ เป็นครั้งแรกที่เราสามารถนำตัวอย่างของเศษดาวเคราะห์น้อยที่เห็นตั้งแต่ยังอยู่ในอวกาศ และนำมันมาเข้าห้องทดลองได้” เจนนิสเกน หัวหน้าผู้เขียนรายงานที่ตีพิมพ์ลงในวารสารเนเจอร์กล่าว
ความน่าสนใจยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ไมเคิล โซเลนสกี นักวิทยาแร่อวกาศจากศูนย์อวกาศจอห์นสันของนาซาพบว่าอุกกาบาตที่พบนี้มีความพรุนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ แต่แม้จะพรุนมากแต่ก็ยังแข็งพอที่จะฝ่าบรรยากาศมาถึงพื้นโลกได้
จากการศึกษาสเปกตรัม นักดาราศาสตร์ทราบว่าดาวเคราะห์น้อย 2008 ทีซี 3 เป็นดาวเคราะห์น้อยชั้นเอฟ (F-class asteroid) การที่นักดาราศาสตร์สามารถเชื่อมโยงอุกกาบาตที่พบบนพื้นโลกเข้ากับดาวเคราะห์น้อยที่เห็นในอวกาศและทราบชนิดมาก่อน ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถวัดสมบัติต่าง ๆ ของดาวเคราะห์น้อยชนิดนั้นได้โดยตรง
“การศึกษาดาวเคราะห์น้อยชั้นเอฟจากอุกกาบาตจึงมีผลดีต่อการหาวิธีป้องกันโลก จากการรุกรานของดาวเคราะห์น้อยชั้นเอฟดวงที่ใหญ่กว่าที่อาจจะมาชนโลกในวัน ข้างหน้าได้ การที่ได้รู้ว่าดาวเคราะห์น้อยจำพวกนี้มีความเปราะมากเช่นนี้ ย่อมหมายถึงการสกัดกั้นดาวเคราะห์น้อยมรณะชั้นเอฟด้วยระเบิดนิวเคลียร์แบบที่เห็นในภาพยนต์นั้นย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาด เพราะ การระเบิดจะทำให้วัตถุเดี่ยวที่คาดการณ์ได้ต้องแตกออกเป็นฝูงของดาวเคราะห์ น้อยดวงเล็กที่ยังมีอานุภาพร้ายแรงแต่มีจำนวนมากซึ่งคาดการณ์ได้ยากกว่า” เจนนิสเกนส์อธิบาย
ที่มา: