ภูเขาไฟแพ็กตู

ภูเขาไฟแพ็กดู หรือ แพ็กตู หรือ แพ็กทู (백두산) – Paektu ชื่อนี้มีความหมายว่ายอดเขาสีขาว หรือภูเขาหัวขาว (白頭山) ในภาษาจีน เป็นภูเขาไฟที่ตั้งอยู่บนส่วนที่สูงที่สุดของเทือกเขาฉางไป๋ (长白) หรือเทือกเขาสีขาวที่ทอดไกลบริเวณชายแดนระหว่างเกาหลีเหนือและประเทศจีน มีความสูง 2,744 เมตร ถือเป็นภูเขาไฟมีพลังชนิดกรวยภูเขาไฟสลับชั้นที่สูงที่สุดในคาบสมุทรเกาหลีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน 

ภูเขาไฟแพ็กตูไม่ใช่ภูเขาไฟทั่วไป แต่เป็นภูเขาไฟยักษ์ระดับซูปเปอร์ (Supervolcano) ที่เคยระเบิดในความรุนแรงถึงระดับ VEI 7 ในปี ค.ศ. 946 พ่นเอาชิ้นส่วนของหินภูเขาไฟหรือเทบพรา (tephra) ในปริมาณ 100 ถึง 120 ลูกบาศก์กิโลเมตรออกมา การระเบิดครั้งนั้นรุนแรงกว่าการระเบิดของภูเขาไฟกรากระตัวและพินาตูโบที่ระเบิดในระดับ VEI 6  (พ่นเทบพราออกมามากกว่าถึง 10 เท่า) และถือเป็นหนึ่งในการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงที่สุดของโลกในช่วง 5,000 ปีที่ผ่านมา แรงพอๆกับการระเบิดระดับ VEI 7 ของซูปเปอร์ภูเขาไฟตัมโบรา (Tambora) ในปี 1815 เลยทีเดียว

หนังสือประวัติศาสตร์ 고려사 ของราชวงค์โครยอบันทึกไว้ว่าในวันที่ 3 พ.ย. 946 เสียงดังของการระเบิดของภูเขาไฟแพ็กตูได้ยินไกลไปถึงนครแคซ็อง ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของเกาหลีสมัยราชวงศ์โครยอซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง 450 กิโลเมตร เถ้าถ่านจากการระเบิดตกลงมาเหมือนสายฝนจนเห็นทุกหนแห่งปรากฏเป็นสีขาวโพลนดังหิมะ  เถ้าถ่านเหล่านี้ยังปลิวไปไกลถึงเมืองนาระ บนเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นที่อยู่ห่างภูเขาไฟแพ็กตูออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ถึง 1,100 กิโลเมตร 

ตามงานวิจัยของ Kayla Iacovino จากมหาวิทยาลัยอริโซนาที่ลงตีพิมพ์เผยแพร่ในเดือน พ.ย. ปี 2016 ระบุว่าการระเบิดของภูเขาไฟแพ็กตูนั้นได้พ่นก๊าซซัลเฟอร์หรือกัมมะถันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณถึงราว 45 เมกกะตัน (เทรากรัม) ซึ่งถือว่ามากกว่าการระเบิดของภูเขาไฟตัมโบรา (ดูกราฟสีแดงด้านล่าง) อีกทั้งยังมีชิ้นส่วนของหินภูเขาไฟหรือ “เทบพรา” ปริมาณมหาศาลตกลงไปในทะเลญี่ปุ่นในความหนาระหว่าง 5 ถึง 10 เซ็นติเมตร (ดูแผนที่ด้านล่าง)

หลังการระเบิดครั้งนั้น ส่วนใจกลางของปล่องลาวาที่ยอดภูเขาไฟหรือแคลดีรา (caldera) ได้ยุบตัวลงกลายเป็นทะเลสาบขนาดกว้าง 4.85×3.35 ตารางกิโลเมตร มีชื่อเรียกว่า ทะเลสาบแห่งสวรรค์  “ช็อนจี” 천지 Chonji จุดลึกสุดของทะเลสาบที่สวยงามนี้อยู่ที่ 384 เมตร ตลอดช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงพฤษภาคมของทุกปีรอบทะเลสาบนี้จะปกคลุมด้วยหิมะตลอดเวลา

ชาวเกาหลีทั้งเหนือและใต้ให้ความสำคัญแก่ภูเขาไฟและทะเลสาบที่แอ่งยุบปากปล่องมาก แพ็กตูถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์เป็นพื้นที่แดนสวรรค์ของประเทศเกาหลีเหนือ ในประวัติผู้นำสูงสุดตลอดกาล “คิม จ็อง อิล” ระบุว่าเขาถือกำเนิดบนยอดเขาแห่งนี้ และเกิดมีปรากฏการร์น้ำแข็งที่ทะเลสาบแห่งสรวงสวรรค์แตกเป็นเสียงดังในวันที่เขาถึงแก่อสัญกรรม ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมและธันวาคมที่ผ่านมา (2562) ผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน “คิม จ็อง อึน” ก็ได้พาภรรยาและคณะผู้ติดตามอีกหลายคนขี่ม้าสีขาวล้วนขึ้นสู่ภูเขาไฟศักสิทธิ์ที่ปกคลุมด้วยหิมะลูกนี้เพื่อแสดงถึงความแข็งแกร่งและความพร้อมในการนำพาประเทศสู่การเจรจาต่อรองกับมหาอำนาจเช่นสหรรัฐฯที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปี

นักภูเขาไฟวิทยา (Volcanologist) ทั้งหลายยังคงถือว่าภูเขาไฟแพ็กตูเป็นภูเขาไฟมีพลัง นั่นคือยังคง Active อยู่และมีโอกาสปะทุได้เสมอ  เรื่องนี้ดึงดูดความสนใจของนักแผ่นดินไหววิทยา (Seismologist ) ดร.เจมส์ แฮมมอนด์ Dr.James Hammond จากมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอนที่ได้พยายามขออนุญาตจากรัฐบาลเกาหลีเหนือจนได้เป็นคณะสำรวจต่างชาติแรกๆในไม่กี่คณะที่ได้เข้าไปสำรวจด้านธรณีวิทยาในประเทศนี้ ดร.แฮมมอนด์และทีมงานได้เริ่มติดตั้งเครื่องวัดความไหวสะเทือนเป็นแนวยาวกว่า 60 กิโลเมตรตามแนวฐานของภูเขาไฟในปี 2013 และพบความจริงจากการเก็บข้อมูลยาวนานกว่า 2 ปีหลังจากนั้นว่า  ลึกลงไปใต้ฐานของภูเขาไฟแพ็กตูยังมีกิจกรรมของแมกมาและความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง หลักๆคือการเพิ่มขึ้นของแมกมาที่มาจากการหลอมละลายของหินเปลือกโลกที่มุดลงไปใต้ฐานของภูเขาไฟ นั่นหมายถึงภูเขาไฟยักษ์ลูกนี้ยังมีโอกาสระเบิดขึ้นมาได้วันใดวันหนึ่งในอนาคต เพียงแต่ไม่อาจทราบช่วงเวลาที่แน่นอนได้เท่านั้น

[wpvp_embed type=youtube video_code=-Qdf2R-FlPo width=560 height=315]

คลิป ดร.แฮมมอนด์กำลังบรรยายงานวิจัยภูเขาไฟแพ็กตู

ภาพขยายของเถ้าภูเขาไฟ ที่จะเข้าไปทำอันตรายสุขภาพ ต่อเนื่องไปจนถึงสร้างปัญหาให้เครื่องยนต์ของเครื่องบิน

อ้างอิงและเครดิตภาพ http://ufosightingshotspot.blogspot.com/2017/01/dangerous-super-volcano-on-brink-of.html

https://www.researchgate.net/figure/Map-showing-the-location-of-Paektu-volcano-and-associated-tephra-fallout-and-gas-yields_fig1_312376305

https://en.wikipedia.org/wiki/Heaven_Lake

https://pages.mtu.edu/~raman/Ashfall/Ashfall.html

https://www.weather.gov/safety/airquality-volcanic-ash

https://www.nationalgeographic.com/news/2016/04/160415-sacred-volcano-north-korea-waiting-eruption-science/

https://advances.sciencemag.org/content/2/4/e1501513