มหาพายุไห่เยี่ยน

**แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อมีการสอบเทียบกับสำนักอุตุฯหลายแห่งใหม่หลังผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ค่าความเร็วลมสูงสุดของพายุไห่เยี่ยนคลาดเคลื่อนไป ค่าที่แท้จริงคือความเร็วลมที่ 315 กม./ชม ความกดอากาศ 895 hPa ข้อมูลในบทความนี้ให้แก้ไขตามนี้

มหาพายุไห่เยี่ยน – ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น”ชนิดขึ้นฝั่ง” ที่มีพลังสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ตั้งแต่มีการตั้งชื่อและติดตามพายุเป็นรูปแบบ

ปีพายุ 2013[1] คือปีที่โลกต้องจดจำ หลังจากที่มีการประกาศไปก่อนแล้วว่าซุปเปอร์ไต้ฝุ่น[2]อุซางิ ที่เข้าฮ่องกงช่วงวันที่ 20 กันยายน ถือเป็นมหาพายุที่มีพลังสูงสุดในโลกประจำปีนี้ แล้วจู่ๆ ก็มีพายุทรงพลังแบบที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อนได้ปรากฏขึ้นมา เบียดซุปเปอร์ไต้ฝุ่นอุซางิชิดซ้าย และทำลายสถิติมหาพายุลูกที่ขึ้นหิ้งอันดับหนึ่งมาตั้งแต่ปี 1969 คือซุปเปอร์เฮอริเคนคาไมล์ แม้แต่เนชันแนลจีโอกราฟฟิคถึงกับประมาณพลังของซุปเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน[3] หรือ โยลันดา[4] ว่ามีพลังเท่ากับเฮอริเคนแซนดี้บวกกับเฮอริเคนแคทรีนาเลยทีเดียว

ยอดผู้เสียชีวิตจากมหาพายุไห่เยี่ยนล่าสุดอยู่ที่ 6,340 ราย สูญหาย 1,061  ราย (ยอดยืนยัน) ทรัพย์สินเสียหาย 2,860 ล้านเหรียญ

การก่อตัว

พายุหมุนเขตร้อน ก่อตัวจากความอุ่นของน้ำทะเล (SST) ระยะความลึก 50 เมตร ที่ร้อนเกินกว่า 28°C ในภาพคืออุณหภูมิน้ำทะเลในเดือนตุลาคม จะเห็นอุณภูมิน้ำทะเลอยู่ในแถบสีม่วงคือช่วง 30°C

ผลจากน้ำอุ่นเกินขนาดที่ไหลสะสมในทะเลฟิลิปปินส์ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2013 เวลา 13:00 ทาง JTWC ได้รายงานว่าพบหย่อมความกดอากาศต่ำ 2 หย่อมเกิดขึ้นพร้อมกันในทะเลฟิลิปปินส์ คือ หย่อมความกดอากาศต่ำ  98W และหย่อมความกดอากาศต่ำ  99W หย่อมความกดอากาศต่ำทั้ง 2 นี้พัฒนาตัวอย่างรวดเร็ว (ทาง PAGASA นับลำดับของหย่อมความกดอากาศต่ำทั้ง 2 หย่อม โดยลำดับของตัวเองเป็น WP91 และ WP92) เวลา 18:00 ของวันที่ 3 พ.ย. หย่อมความกดอากาศต่ำทั้ง 2 หย่อมทวีกำลังขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน ซึ่งได้รับหมายเลขลำดับว่า 30W และ 31W ทางอุตุนิยมฯฟิลิปปินส์หรือ PAGASA ให้ชื่อเรียกพายุดีเปรสชัน TD 30W ว่า  วิลมา ซึ่งต่อมาได้เคลื่อนเข้าอ่าวไทย ถล่มระยอง เลยเข้าประจวบ เพชรบุรี เกิดน้ำป่า ต้นไม้ล้ม จากนั้นก็ข้ามฝั่งลงอันดามัน ทวีกำลังเป็นพายุโซนร้อนขึ้นฝั่งประเทศอินเดีย (สื่อไทยที่ชอบมั่ว ไปเรียกวิลมาว่าเป็นไห่เยี่ยน)

แต่พายุดีเปรสชัน TD 31W ต่างหาก ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ ดีเปรสชันนี้ ทาง PAGASA ให้ชื่อเรียกว่าโยลันดา หรือที่เราทั้งหลายเรียกว่า ไห่เยี่ยน

วันที่ 4 พ.ย. เวลา 13:00 ทาง JTWC ยกระดับโยลันดาหรือไห่เยี่ยน ให้เป็นพายุโซนร้อน TS 31W ขณะที่วิลมา TD 30W ยังคงเป็นพายุดีเปรสชันตามเดิม

ในวันนี้วิลมาซึ่งเคลื่อนที่เร็วได้ขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ไปก่อน ซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆของคนที่นั่นกับพายุระดับดีเปรสชัน แต่สิ่งที่น่ากลัวรออยู่ นั่นคือโยลันดาหรือไห่เยี่ยน  ซึ่งเคลื่อนที่ช้ามาก เหมือนสะสมพลังงานความร้อนจากทะเล ที่จะทวีกำลังตัวเอง และสุดท้าย..มันก็ทำสำเร็จ

วันที่ 5 พ.ย. เวลา 13:00 พายุโซนร้อนไห่เยี่ยน ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น ทางสถาบัน TSR ที่ลอนดอน ประเมินไห่เยี่ยนว่าจะมีพลังแค่ไต้ฝุ่นระดับ 3 แต่ยังไม่ทราบเส้นทางหลังลงทะเลจีนไต้ และได้ออกคำเตือนไปยังเกาะต่างๆในแถบไมโครนีเซีย รวมถึง แย็ปและปาเลา ในทางผ่านพายุ วันที่ 6 พ.ย เวลา 00:13 ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ทวีกำลังกลายสภาพเป็นไต้ฝุ่นระดับ 2 และยังคงทวีกำลังอย่างรวดเร็ว ช่วงเช้าทวีกำลังขึ้นเป็นระดับ 3   และช่วงหัวค่ำ ก่อน 20:00 พายุไห่เยี่ยนก็กลายเป็นไต้ฝุ่นระดับ 4 เคลื่อนเข้าถล่มเกาะปาเลา ในภาพอินฟราเรดด้านล่างจะเห็นตาพายุชัดเจนแม้ในยามกลางคืน

เช้าวันที่ 7 พ.ย. ไห่เยี่ยนกลายเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นสมบูรณ์แบบ นั่นคือไต้ฝุ่นพลังระดับ 5 ความเร็วลมรอบศูนย์กลางพายุ 260 กม/ชม ทิศทางยังคงมุ่งเข้าหาฟิลิปปินส์

ถึงตอนนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศอพยพคนจำนวนหลายแสน และข้อผิดพลาดก็เกิด มีคนฟิลิปปินส์จำนวนมาก ไม่ยอมอพยพ ในความเข้าใจของพวกเขา ไห่เยี่ยนก็ไม่ต่างจากไต้ฝุ่นลูกอื่นๆที่โดนมาตลอดตั้งแต่เล็กจนโต เป็นลมแรงที่พาพัดบ้านพัง พวกเขารับมือพายุโดยการปิดบ้านให้สนิท ไม่ให้ลมเข้าได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ได้หากพายุลูกนั้นเป็นพายุธรรมดาและบ้านอยู่ห่างทะเล

และนรกก็มาเยือน

เช้าวันที่ 8 พ.ย. พายุไห่เยี่ยนขึ้นฝั่ง  (กดดูภาพเคลื่อนไหว) ในความเร็วลมกระโชกสูงสุดถึง 314 กม/ชม ความกดอากาศที่ศูนย์กลางต่ำกว่า  858 hPa ทำลายสถิติพายุหมุนเขตร้อนชนิดขึ้นฝั่งทุกลูกเท่าที่มีการบันทึกตัวเลขมา (แรงถึง 8.1 เกินขนาด 8.0 ที่เป็นมาตรวัดสูงสุดของเทคนิคดโวแร็ค Dvorak)

ตาพายุเคลื่อนผ่านดูลัก Dulag แต่แนวลมที่รุนแรงกลับพาดผ่านตานาอวน ในภาพด้านล่างพายุเคลื่อนจากตะวันออกไปตะวันตก และจะเห็นเมืองตาโคลบันด้านบน กระแสลมที่หมุนทวนเข็มนาฬิกาในวงสีม่วงได้นำคลื่นทะเลสตอร์มเสิร์จที่รุนแรงไม่ต่างจากคลื่นสึนามิ เข้าถล่มตาโคลบันจนแหลกยับ

นี่คือคลื่นสตอร์มเสิร์จ ตัวจริงที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในภัยพิบัติครั้งนี้  [wpvp_embed type=youtube video_code=bHGhkcSbonY width=560 height=315] (ภาพบันทึกจากซามาตะวันออก ซึ่งคลื่นยังไม่แรงและสูงเท่าที่ตาโคลบัน)

 คลื่นสูงเกิน 5 เมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็วมหาศาล ตามภาพคือระดับน้ำวันที่ 6-9 พ.ย.

พื้นที่ๆเกิดความเสียหาย ตามแนวเส้นทางพายุ 

ภาพไห่เยี่ยนพร้อมตาพายุขณะจะขึ้นฝั่ง มองจากอวกาศ โดยดาวเทียม MTSAT-1RBYhrQN6CUAASSXw

หลังออกจากฟิลิปปนส์ ไห่เยี่ยนก็ไปขึ้นฝั่งเวียดนามแล้วไปสลายตัวในประเทศจีนวันที่ 11 พ.ย. ตามเส้นทางพายุนี้ (ตัวย่อดูตามหมายเหตุด้านล่าง)

วิดีโอด้านล่างนี้สรุปให้เห็นความเร็วลม พลังทำลาย และความเสียหายในวันแรก (8 พ.ย.) เฉพาะในตาโกลบัน รวบรวมโดย Josh Morgerman จาก iCycone.com  [wpvp_embed type=youtube video_code=4wrgrJwYdy8 width=560 height=315]

ข้อสรุปที่น่าห่วงในอนาคต คืออุณภูมิน้ำทะลที่สูงขึ้น ทำให้พายุรุนแรงขึ้น ตามกราฟจะเห็นความร้อนของน้ำทะเลเทียบกันหลายๆปี และนี่อาจเป็นข้อสรุปถึงหายนะจากธรรมชาติที่่ต้องมาศึกษากันต่อไปว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำจของมนุษย์หรือไม่

หมายเหตุ

  1. ฤดูพายุไต้ฝุ่น ปกติเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมไปสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายนของทุกปีในปีปกติ ภายหลังสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปอาจมีพายุบางลูกเกิดก่อนและก่อตัวหลังจากเดือนที่กล่าวมาแล้วได้
  2. ลำดับของพายุเกิดขึ้นและนับตามความเร็วลม โดยก่อตัวตั้งแต่เบาสุด คือหย่อมความกดอากาศต่ำ แรงขึ้นมาเป็นพายุดีเปรสชัน แรงขึ้นมาอีกเป็นพายุโซนร้อน แรงขึ้นมาอีกก็จะกลายเป็นพายุไต้ฝุ่น ซึ่งแยกชื่อเรียกไปตามที่เกิด เช่น เกิดแถวอเมริกาจะเรียกว่าเฮอริเคน เกิดในมหาสมุทรอินเดียเรียกไซโคลน เป็นต้น ในขั้นของไต้ฝุ่นนี้ จะแยกออกเป็นหลายระดับแล้วแต่มาตราของสำนักอุตุที่ติดตามพายุจะเลือกใช้ เช่นมาตราซัฟเฟอร์-ซิมปสันนั้นจะแยกไต้ฝุ่นเป็น 5 ระดับ เมื่อทวีกำลังแรงขึ้นไปจนสุด คราวนี้ก็จะกลายเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น ซุปเปอร์ไซโคลน ซุปเปอร์เฮอริเคน ซึ่งถือเป็นขั้นสูงสุดของมาตราพายุทุกมาตรา
  3. ชื่อพายุไห่เยี่ยน แปลว่านกนางแอ่น ใช้ชื่อตามตารางชื่อพายุของ WMO
  4. ทางฟิลิปปินส์จะใช้ตารางชื่อพายุของตัวเอง ไล่จาก A-Z โดยไม่มีตัว X นั่นคือมี 25 ชื่อต่อปี และเผื่อไว้อีก 10 ชื่อกรณีปีนั้นมีพายุมากเกินไป
  5. หมายเลขหย่อมความกดอากาศต่ำแบบของ WMO จะขึ้นต้นด้วย 9 เสมอ เลขจะวนใช้ไปตั้งแต่ 90-99 แล้วเริ่ม 90 ใหม่ ตามด้วยตัวอักษรบอกโซนตามคำอธิบายข้อ 6
  6. ลำดับหมายเลขประจำตัวพายุ แบบของ WMO จะเริ่มนับ 01 ใหม่ทุกปีพายุ ตัวอักษรหมายถึงโซนที่เกิดพายุซึ่งมี 8 โซน คือ
    A – ทะเลอาราเบียน
    B – อ่าวเบงกอล
    C – โซนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิค
    E – โซนตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิค
    L – มหาสมุทรแอตแลนติก
    P – ทางใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิค (135E – 120W)
    S – มหาสมุทรอินเดียใต้เส้นศูนย์สูตร (20E – 135E)
    W – โซนตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิค
  7. ตัวย่อชนิดพายุในภาพดาวเทียม
    LPA คือหย่อมความกดอากาศต่ำ
    TD คือ ดีเปรสชัน
    TS คือ พายุโซนร้อน
    TY คือ พายุไต้ฝุ่น
    STY คือ ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น